ข่าว/ประชาสัมพันธ์

ครม. อนุมัติแผนการบริหารราชการแผ่นดินฉบับแรกของประเทศแล้ว

 


เมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม 2548 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนหลักทางด้านวิชาการในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ส่วน ราชการสามารถเตรียมพร้อมในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับแผนนิติบัญญัติ และแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการตามที่กฎหมายกำหนด

ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการรวบรวมข้อมูลการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 นั้น โดยที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีแผนการบริหารราชการแผ่นดินโดยให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สศช. และสำนักงบประมาณ ร่วมกันจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทั้งนี้ แผนบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน ส่วนราชการหรือบุคคลที่รับผิดชอบในแต่ละภารกิจหรือเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพร่วม ประมาณการรายได้ รายจ่ายและทรัพยากรต่างๆ ที่จะต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการและการติดตามประเมินผล

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สศช. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ร่วมกันยกร่างแผนบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี แบ่งออกเป็น 9 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งได้มอบหมายให้ สศช. รับผิดชอบ 5 กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ 1 การขจัดความยากจนและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ กลุ่มที่ 2 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานและรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ 3 การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ กลุ่มที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 5 การพัฒนาความสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่วนกลุ่มที่ 6-8 แบ่งความรับผิดชอบดังนี้คือ กลุ่มที่ 6 ก.พ.ร. และ สลค. การส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี กลุ่มที่ 7 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ สลค. การส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม และกลุ่มที่ 8 สมช. การรักษาความมั่นคงของรัฐ และภายหลังการประชุมได้เพิ่มกลุ่มที่ 9 การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตรโลก โดยมอบให้ สศช. และ สงป. รับผิดชอบ

ทั้งนี้ สศช. ได้รวบรวมและนำเรียนเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ครม. พิจารณา และได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 มีสาระสำคัญดังนี้

~ สาระสำคัญของแผนฯ แสดงทิศทางและวิธีการทำงานของรัฐบาล ระบุถึงประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดและเป้าหมาย กลยุทธ์หลัก และเจ้าภาพไว้อย่างชัดเจน ซึ่งแผนฯ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง แนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์ของรัฐบาล กรอบการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนที่สอง ยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย 9 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1. การขจัดความยากจน ในระดับประเทศ ระดับชุมชน และระดับบุคคล

2. การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอนุรักษ์ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามและพัฒนาภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างครบวงจรและมีคุณภาพมาตรฐาน การเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคม การเตรียมความพร้อมแก่สังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่แข็งแรงและน่าอยู่

3. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ โดยการปรับโครงสร้างภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และการค้า การบริหารการเงินการคลัง การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนารัฐวิสาหกิจ และการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินยุทธศาสตร์

4. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างสมดุลของการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การคุ้มครองและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม การฟื้นฟูทรัพยากรดินและใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การมีส่วนร่วมของเอกชนและชุมชนท้องถิ่น และการควบคุมมลพิษจากขยะ น้ำเสีย ฝุ่นละออง ก๊าซ กลิ่น และเสียง

5. การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก การส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคีและการสร้างบทบาทไทยในเวทีโลก ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการทูตเพื่อประชาชน

6. การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยการปรับปรุงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การพัฒนาระบบราชการ การป้องกันและปราบปรามทุจริต และการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคเอกชนและสังคม

7. การส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม โดยการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการประชาสังคม การส่งเสริมและพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

8. การรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยการพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงของรัฐ

9. การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตโลก
ส่วนที่สาม ว่าด้วยกลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยการมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพ งบประมาณสนับสนุนยุทธศาสตร์ และแนวทางการติดตามตรวจสอบประเมินผล

~ ประโยชน์ของแผนฯ จะใช้สำหรับอ้างอิงหรือเป็นแม่บทในการถ่ายทอดกลยุทธ์หลักลงไปในระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือมิติการปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ปกติในระดับกลุ่มจังหวัดและจังหวัดหรือมิติพื้นที่ รวมถึงกลไกการทำงานข้ามหน่วยงานและพื้นที่ หรือมิติตามระเบียบวาระงานพิเศษในรูปแบบของการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี อันจะช่วยทำให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรทรัพยากรเกิดความสอดคล้องบูรณาการ และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

~ บทสรุป แผนการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นเครื่องมือสมัยใหม่ที่จะช่วยทำให้รัฐบาลสามารถบริหารปกครองประเทศในเชิงรุก มีการมอบหมายเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเกิดบูรณาการ สามารถประสานแนวทาง มาตรการ และวิธีการทำงานของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน รวมถึงการเชื่อมโยงการวางแผนเข้ากับกระบวนการจัดสรรทรัพยากร การติดตามตรวจสอบและประเมินผล อันจะช่วยทำให้เกิดพลังและสามารถขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐในทุกระดับและทุกมิติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น
 

  ภารกิจหลัก
โครงสร้างการบริหาร
บุคลากร
 

ข้อมูลเผยแพร่
ข่าว/ประชาสัมพันธ์
บริการหน่วยงานภายใน

  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หน่วยงานภายในมฟล.
Link ที่น่าสนใจ
 

ข้อมูลบุคลากร
ข้อมูลงบประมาณ
ข้อมูลอาคารสถานที่
ข้อมูลบริการวิชาการ
ข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด

 
 
 
 

Copyright © 2004 Division of Policy and Planing Mae Fah Luang University Chiangrai Thailand 57100
ส่วนนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 333 หมู่ 1 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย 57100

.........ปรับปรุงข้อมูล 2 มิ.ย. 2548.............